ของแถมดีไหม ???

ของแถมดีไหม ???

สุวัฒน์  จรรยาพูน

                ตำราหลาย ๆ เล่ม กล่าวว่า ลอจิสติกส์ ทำให้แน่ใจว่าองค์กรได้นำผลิตภัณฑ์ไปถึงมือลูกค้าได้อย่างดีครบ 7 ประการ คือ
1.               ถูกผลิตภัณฑ์          the RIGHT product
2.               ถูกจำนวน              in the RIGHT quantity,
3.               ถูกสภาพ                 in the RIGHT condition,
4.               จัดส่งถูกลูกค้า       is delivered to the RIGHT customer
5.               ถูกสถานที่              at the RIGHT place,
6.               ถูกเวลา                   at the RIGHT time,
7.               ถูกต้นทุน                               at the RIGHT cost.
ทุกข้อไม่มีใครสงสัย ยกเว้นข้อเดียวก็คือ ถูกจำนวน มีหลายท่านได้สอบถามผมมาว่าถ้าได้มากกว่าที่ต้องการ หรือการได้ของแถมเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ เพราะทำให้เราประหยัดต้นทุนได้มาก และใคร ๆ ก็ชอบของแถม ดังนั้นการที่     ลอจิสติกส์ กล่าวมาเช่นนี้ถูกต้องหรือเปล่า ดูจะเข้าใจยาก และน่าสงสัย
ผมตอบได้เลยว่าของแถมเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรเกินกว่าที่ต้องการ งงไหมครับ คือ ผมต้องการให้เราบริหารของแถมให้เป็น เช่น เราต้องการสินค้า 12 ชิ้น แต่ถ้าสินค้านั้น ซื้อ 10 แถม 2 ก็เป็นเรื่องที่ควรรับไว้ต้นทุนเราประหยัดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเราต้องซื้อสินค้านั้น 15 ชิ้น แล้วจึงจะได้ของแถม 5 ชิ้น โดยที่เราต้องการเพียง 12 ชิ้น อย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสินค้าที่เหลือเกินกว่าที่ต้องการนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
ขอยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันก็แล้วกัน สมมติว่า ที่บ้านของผมผมสบู่หมด ต้องการสบู่มาใช้ 1 ก้อน จึงเดินเข้าไปหาในซุปเปอร์มาร์เก็ต หยิบสบู่มา 1 ก้อน ราคา 20 บาท แต่สายตาก็เหลือบไปมองเห็นสบู่ชนิดเดียวกันแต่ขายเป็นแพ็ค 4 ก้อน แถม 1 ก้อน ราคา 80 บาท เฉลี่ยในใจได้ก้อนละ 16 บาท ประหยัดไปก้อนละ 4 บาท ก็เลยเปลี่ยนใจไปซื้อเป็นแพ็คที่มีของแถม เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผลก็คือ ผมได้แกะสบู่ออกมาใช้ 1 ก้อน ส่วนอีก 4 ก้อนที่เหลือผมก็ต้องหาที่เก็บ
ปัญหาตามมาแล้วก็คือ จะเก็บที่ไหนดี ??? ตู้ที่เคยใส่ก็ใกล้เต็มแล้ว ต้องเสียเวลารื้อตู้แล้วจัดเข้าที่ใหม่ ถ้าไม่อยากเสียเวลา ก็ต้องหาซื้อตู้ใบใหม่มาใช้ ต้นทุนก็สูงเข้าไปอีก หรือไม่ก็กอง ๆ ไว้ก่อนแล้วค่อยมาจัดการภายหลัง ปัญหาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ถ้ากองไว้แล้วรู้สึกเกะกะ เราก็ต้องย้ายที่ เก็บ อาจถูกของใช้อย่างอื่นทับให้เสียหาย อาจถูกเท้าเตะกระเด็นไปใต้ตู้ และปัญหาอื่น ๆ อีกมาก
เมื่อสบู่หมดอีกครั้ง เราอาจหาสบู่อีก 4 ก้อน ไม่เจอ หรือไม่ก็ลืมว่าเก็บไว้ที่ไหน คิดว่าของหมด หรือไม่ก็อยู่ในสภาพที่ใช้ไม่ได้ ต้องไปซื้อใหม่ ผลลัพธ์ก็คือ แทนที่เราจะประหยัดไป 4 บาทต่อก้อน กลายเป็นเราใช้สบู่แค่ก้อนเดียวราคา 80 บาท แพงไป 60 บาท เพราะอีก 4 ก้อนที่เหลือเราดันหาไม่เจอหรือใช้ไม่ได้ อย่างนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการประหยัดต้นทุนได้หรือ
ที่สำคัญเรายังไม่ได้คิดค่าแรง ในการจัดตู้ใหม่เพื่อเก็บสบู่ 4 ก้อนที่ได้มาจนหายไป หรือค่าขนย้ายที่ย้ายที่เก็บไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาต้องการจะใช้แล้วจำไม่ได้ว่าเก็บที่ไหน เรื่องแบบนี้มีให้พบเห็นได้ในสถานประกอบการทั่วไป โดยเฉพาะในคลังสินค้าที่มีของเกินของขาดเป็นประจำ มีการจัดวางสินค้าใหม่เมื่อมีสินค้าเข้า มีการเคลื่อนย้ายที่เก็บของสินค้าบ่อย ๆ หาของไม่เจอ นึกว่าของหมดจึงสั่งของเข้ามาใหม่แล้วถึงพบว่าสินค้านั้นยังอยู่ในคลังอีกมาก ใช้จนถึงสิ้นปีก็ไม่หมด
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการได้สินค้าเกินจำนวนที่ต้องการนั้นไม่ส่งผลดีต่อกิจการเลย กลับก่อปัญหาตามมาอย่างมาก จึงควรทำการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงของแถมที่ได้รับ เพราะมูลค่าที่ประหยัดได้ อาจไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ที่กิจการมักจะมองข้ามไป ที่สำคัญบางครั้งอาจเกิดการบริหารงานที่ผิดพลาดก็คือ ให้รางวัลกับฝ่ายจัดซื้อที่ได้ของแถมหรือราคาถูกแต่ต้องซื้อจำนวนมาก แต่กลับทำโทษฝ่ายคลังสินค้าที่มีต้นทุนสูง ทั้ง ๆ ที่สาเหตุของปัญหานี้มาจากฝ่ายจัดซื้อ ของแถมจึงเปรียบเสมือนกับน้ำตาลเคลือบยาพิษเลยทีเดียว
สนใจข้อมูลทางธุรกิจเพิ่มเติม ค้นหาข้อมูลได้ที่นี หรือ
โทร. 02-5330316, 081-8304741, 085-8799468
โทรสาร. 02-5330316


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น